หน้าต่างบ้าน ตามหลักฮวงจุ้ย

หน้าต่างบ้าน

หน้าต่างบ้าน ไว้สำหรับเป็นช่องทางให้อากาศถ่ายเท การติดตั้ง หน้าต่างบ้าน ตามหลักฮวงจุ้ย ต้องเลือกให้สัมพันธ์กับแสงสว่างและทิศทางลม เพื่อให้หน้าต่างได้ทำหน้าที่ได้เต็มที่ การมีหน้าต่างอยู่ในทิศที่อับทึบหรือโดนบดบังด้วยอาคารขนาดใหญ่ ย่อมไม่ให้ประโยชน์อะไรกับบ้านมากนัก หรือการมีหน้าต่างห้องนอนอยู่ในทิศตะวันตกที่จะรับแสงแดดตลอดทั้งบ่าย และอาจสะสมความร้อนไปจนกลางคืนก็ไม่ใช่เรื่องที่ควรอีกเช่นกัน

 

สารบัญ

 

 

ประโยชน์ของ หน้าต่างบ้าน

องค์ประกอบส่วนหนึ่งของบ้านที่เป็นช่องทางหมุนเวียนอากาศภายนอกสู่ภายในบ้าน ทำให้รู้สึกปลอดโปร่ง เย็นสบาย  และยังเป็นช่องทางของแสงสว่างเข้าไปภายในบ้านได้อีกด้วย เมื่อสร้างบ้านจึงให้ความสำคัญกับการติดตั้งหน้าต่างหรือช่องเปิดในจำนวนที่เพียงพอและวางตำแหน่งที่เหมาะสม เพราะจะทำให้อากาศภายในบ้านถ่ายเทสะดวก รู้สึกได้ถึงความสบายน่าอยู่และไม่อึดอัด

 

ส่วนประกอบของ หน้าต่างบ้าน

1. วงกบหน้าต่าง ส่วนมากเป็นไม้เนื้อแข็ง

2. วงกรอบหรือบานกรอบหน้าต่าง นิยมใช้ไม้สักเพราะจะทนทาน สวยงาม น้ำหนักไม่มาก และไม่บิดงอง่าย รวมทั้งยังหดตัวน้อยมาก

3. ลูกฟัก ปัจจุบันนิยม กระจกหรือใช้ไม้และบานเกล็ดรวมทั้งกระเบื้องแผ่นเรียบ

อ่านเพิ่มเติม กระจกบ้าน

 

ขนาดของหน้าต่างบ้าน 

หน้าต่างที่มีขนาดเหมาะสมคือ ขนาดประมาณกว้าง 60 ซม. ยาว  90 ซม. ต่อหนึ่งบาน แต่ถ้าต้องการขนาดที่ใหญ่  ควรเลือกใช้หน้าต่างที่เป็นสองบาน  การติดตั้งวงกบหน้าต่างควรติดตั้งวงกบด้านล่างอยู่สูงเกิน 2 เมตร สำหรับบ้านไหนที่ต้องการทำช่องแสงสว่างเหนือวงกบก็สามารถทำได้เช่นกัน

อ่านเพิ่มเติม ประตูบ้าน

 

ประเภท หน้าต่างบ้าน

7 ประเภทของ หน้าต่างบ้าน ที่นิยมใช้ทั่วโลกในยุคปัจจุบัน มีดังนี้

1. หน้าต่างบานเปิด (Swing Window)

แบบหน้าต่างบ้าน แบบต่างๆ

ลักษณะการใช้งานค่อนข้างคล้ายคลึงกันกับหน้าต่างบานกระทุ้ง แต่หน้าต่างบานเปิดจะเป็นการผลักออกไปด้านข้าง (เปิดซ้ายหรือขวา) โดยแบ่งเป็นบานเปิดเดี่ยว (Casement window) และบานเปิดคู่ (2-panel Casement Window) ในปัจจุบันหน้าต่างบานเปิดเดี่ยวที่เรียงกันหลายบานกำลังเป็นที่นิยมอย่างมาก เพราะให้ความรู้สึกเรียงกันสวยงาม หรูหรามีสไตล์และสามารถเปิดรับลมได้มาก

ขณะเปิดจะรับแสงรับลมได้เต็มที่แต่จะกินพื้นที่ด้านนอกที่บานหน้าต่างเปิดออกไป จึงควรติดตั้งหน้าต่างรูปแบบนี้ในบริเวณที่ไม่กีดขวางทางเดินหรือเป็นบริเวณที่ต้องมีคนเดินผ่านเป็นประจำ เช่น บริเวณชั้นสองของบ้าน หน้าต่างบานเปิดแบ่งได้ 2 รูปแบบ

1.1  หน้าต่างที่ใช้บานพับแบบธรรมดา

จะเปิดออกได้กว้างถึง 180 องศา ต้องทำขอยึดไว้เพื่อกันลมตี

1.2  หน้าต่างบานเปิดแบบค้างโดยไม่ต้องใช้ตัวล็อค (บานพับแบบวิทโก้)

เป็นหน้าต่างที่เปิด-ปิดไปในทิศทางเดียวกัน และเปิดได้มากสุดที่ 90 องศา แต่ละบานจะมีตัวยึดอยู่ด้านบนและด้านล่าง มีความฝืดในตัวจึงไม่ต้องใช้ขอสับ

 

2. หน้าต่างบานเลื่อน (Sliding Window)

หน้าต่างบ้านโมเดิร์น

คล้ายกับประตูบานเลื่อนที่ขณะเลื่อนเปิดจะได้ช่องลมลดลงเหลือครึ่งหนึ่ง มีข้อดี คือ สามารถใช้ในบริเวณที่มีคนเดินผ่านไปมาได้ จึงใช้งานได้แทบทุกส่วนของบ้าน ไม่ว่าจะเป็น หน้าต่างที่เปิดรับบรรยากาศนอกบ้าน หรือใช้เป็นช่องส่งอาหารจากครัวมายังส่วนรับประทานอาหาร สิ่งสำคัญคือควรคำนึงเรื่องความปลอดภัยเป็นหลัก โดยเฉพาะหน้าต่างที่ติดกับภายนอกบ้านควรเลือกแบบที่มีตัวล็อคหรือระบบรักษาความปลอดภัยที่แน่นหนา

หน้าต่างประเภทนี้ใช้รอกและรางแทนการเปิด-ปิด ให้เลื่อนไปมาทั้งซ้ายและขวา แต่จะสามารถเปิดได้เพียงครึ่งเดียวของความกว้างทั้งหมดเพราะต้องเสียเนื้อที่ซ้อนขนาน  หน้าต่างบานเลื่อนไม่ช่วยรับลมแต่ถ้าอยู่ในทิศทางที่ลมผ่านแล้วจะเปิดให้ลมเข้ามากและสามารถรับแสงสว่างจากธรรมชาติได้อย่างเต็มที่ เพราะมีขนาดใหญ่ ซึ่งมีทั้งลักษณะที่เป็นไม้และอะลูมิเนียม  ข้อเสียคือ ถ้าเป็นไม้จะทำได้ยากและเสียค่าใช้จ่ายสูง โดยหน้าต่างบานเลื่อนมีด้วยกัน 2 แบบ คือ

2.1 หน้าต่างชนิดบานเลื่อนขึ้นลง

หน้าต่างชนิดนี้จะมีลักษณะสี่เหลี่ยมเลื่อนขึ้นลง ข้อเสีย คือ ปิดและเปิดไม่สะดวก รับลมได้เพียงครึ่งหนึ่งของหน้าต่างชนิดที่สามารถเปิดได้ทั้งบาน แต่สามารถรับแสงสว่างจากธรรมชาติได้อย่างเต็มที่

2.2 หน้าต่างชนิดบานเลื่อนด้านข้าง

หน้าต่างบานเลือนช่วยประหยัดเนื้อที่ภายนอกสำหรับปิดเปิดได้ แต่การเปิดหน้าต่างจะทำได้เพียงครึ่งหนึ่งทั่วไป และอุปกรณ์ในการติดตั้งหน้าต่างบานเลื่อน มีราคาแพงเนื่องจากต้องใช้รางเลื่อน แต่สามารถรับแสงสว่างจากธรรมชาติได้อย่างเต็มที่เช่นกัน

3. หน้าต่างบานยก (Slide-Hung Window)

หน้าต่างบานยก

คล้ายหน้าต่างบานเลื่อนแต่เป็นลักษณะยกบานขึ้นแล้วบิดอุปกรณ์ล็อคเพื่อเปิดค้างไว้และยกบานลงเพื่อปิด (คล้ายหน้าต่างรถไฟหรือรถโดยสารประจำทางแบบไม่ปรับอากาศในบ้านเรา) สามารถเปิดรับอากาศภายนอกได้ครึ่งหนึ่งของพื้นที่เต็ม รับแสงและชมวิวได้อย่างเต็มที่ เหมาะกับบ้านพักอาศัยและอาคารสูง

 

4. หน้าต่างบานกระทุ้ง  (Awning Window)

หน้าต่างบานกระทุ้ง

มีบานพับอยู่ด้านบนของบาน วิธีเปิดคือดันจากด้านล่างของบานออกไป ขณะที่เปิดจะกินพื้นที่ด้านที่เปิดออกจึงควรใช้ในบริเวณที่ห่างจากทางสัญจรของคนทั่วไปหรือใช้ในระดับเหนือศีรษะขึ้นไป ควรเลือกวงกบที่มีความแข็งแรงเพื่อรองรับน้ำหนักของบานหน้าต่าง ซึ่งตัวบานมีให้เลือกทั้งลูกฟักกระจกหรือบานทึบ ขณะเปิดอาจรับลมได้ไม่เต็มที่แต่ตัวบานที่เปิดนี้จะทำหน้าที่เป็นกันสาดในตัว หากเลือกบานทึบจะช่วยกันแสงแดดจากด้านบนอีกด้วย นอกจากบานกระทุ้งจะนิยมติดตั้งแบบต่อเนื่องกันเป็นจังหวะที่สวยงามแล้ว ยังเลือกติดตั้งบานเล็กๆ เป็นหน้าต่างห้องน้ำเพื่อการระบายอากาศที่ดีอีกด้วย

5. หน้าต่างบานพลิก(Center pivot Windows)

หน้าต่างบานพลิก

มีจุดศูนย์กลางการหมุนอยู่กลางบานหรือกลางวงกบ สามารถเปิดได้โดยการผลักให้บานพลิกไปมา มีทั้งพลิกแบบแนวตั้งและแนวนอน ขณะเปิดหน้าต่างจะรับลมได้เต็มที่ ทำความสะอาดง่าย ข้อดีของบานพลิกแบบพลิกขึ้นในแนวนอนคือทำหน้าที่เป็นเหมือนกันสาดที่กันได้ทั้งแดดและฝน ข้อเสียคือไม่สามารถติดมุ้งลวดเพื่อกันยุงหรือแมลงได้ และกินพื้นที่ทั้งภายในและภายนอกอย่างละครึ่งบาน เหมาะสำหรับพื้นที่ที่ต้องการสัมผัสบรรยากาศภายนอกอย่างเต็มที่ แต่ไม่เหมาะสำหรับห้องส่วนตัวหรือห้องนอน

6. หน้าต่างบานเกล็ด (Jalousie Windows)

หน้าต่างบานเกล็ด

จะไม่กินพื้นที่ขณะเปิด ใช้สำหรับระบายอากาศ สามารถรับลมและแสงสว่างจากภายนอกเพียงแค่หมุนบานเกล็ดเท่านั้น ใช้ได้กับผนังที่ติดกับภายนอกอาคาร หรือผนังกั้นพื้นที่แต่ละส่วนภายในบ้านเพื่อการหมุนเวียนอากาศที่ดี

ข้อควรคำนึง

6.1  ขนาดบานไม่ควรกว้างมากนัก ไม่ว่าบานเกล็ดจะทำด้วยวัสดุไม้หรือกระจก เพราะจะเกิดการแอ่นตัว บิดงอ  และแตกง่าย แต่ถ้าจะใช้วัสดุที่หนาขึ้น น้ำหนักก็จะมากตาม ซึ่งอาจทำให้อุปกรณ์ที่ใช้เปิดปิดทำงานหนักและเสียเร็ว

6.2. ความสามารถในการกันฝนของบานเกล็ดนั้นไม่ค่อยดีเพราะไม่มีบังใบ ขณะเปิดถ้าฝนสาดแรง น้ำฝนจะตีย้อนเข้ามาภายในบ้านได้ ซึ่งควรเตรียมรับมือหรือแก้โดยให้มีรอยซ้อนกันของเกล็ดให้มากๆ (ขณะฝนตกแนะนำให้ปิดบานเกล็ดให้สนิท)

6.3. ควรติดตั้งอุปกรณ์หรือระบบรักษาความปลอดภัย เพราะชุดอุปกรณ์บานเกล็ดสามารถถอดออกได้ง่าย ทั้งตัวเกล็ดและบานกรอบ

7. หน้าต่างช่องแสง/บานตาย (Fix Window)

หน้าต่างกระจกยาว

หน้าต่างช่องแสงหรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าบานตาย ถือเป็นหน้าต่างประเภทที่ประกอบและติดตั้งได้ง่ายถ้าเทียบกับชนิดอื่นๆ นอกจากนี้ราคาต่อตารางเมตรยังต่ำกว่าแบบหน้าต่างบานเลื่อนและบานเปิด เพราะไม่จำเป็นใช้อุปกรณ์ใดๆ เพิ่ม แต่เนื่องจากไม่สามารถเลื่อนหรือเปิดบานหน้าต่างได้ แบบหน้าต่างช่องแสงจึงเหมาะสำหรับจุดที่ไม่จำเป็นต้องมีการระบายอากาศเท่านั้น

รูปแบบประตูและหน้าต่างมีหลากหลาย ซึ่งมีข้อดีข้อเสียแตกต่างกัน จึงควรเลือกใช้ควรเลือกตามความเหมาะสมของการใช้งานและสภาพแวดล้อมโดยรอบ รวมถึงข้อจำกัดในบริเวณนั้นๆ เพื่อให้สามารถใช้งานได้ตามความต้องการและได้ประโยชน์สูงสุด

อ่านเพิ่มเติม ทริคเล็ก ๆ ในการออกแบบประตูและหน้าต่างบ้าน

 

หน้าต่างบ้าน ตามหลักฮวงจุ้ย

หน้าต่างบ้าน ตามหลักฮวงจุ้ย กับตำแหน่งดีของประตูหน้าต่างบ้าน เปิดรับพลังงานดีเข้าบ้าน

ฮวงจุ้ยหน้าต่างบ้าน

“ประตูและหน้าต่างของบ้าน” เปรียบเสมือนพระเอกและนางเอกในภาพยนตร์ ที่มีความสำคัญอย่างมากในด้านฮวงจุ้ย เพราะเป็นช่องทางไหลเข้าออกของกระแสพลังจากสิ่งแวดล้อมภายนอก ซึ่งมีผลกระทบต่อผู้คนในบ้าน ดังนั้น การสร้างประตูและหน้าต่างของบ้าน จึงต้องคำนึงถึงทิศทาง ขนาด และปริมาณให้ดี โดยเฉพาะประตูบ้านถือเป็นปราการด่านแรกของการเปิดรับพลังงานที่ดี

ทิศมงคลของประตูบ้าน

ทิศที่เป็นมงคลของประตูบ้านสามารถพิจารณาได้โดยยืนอยู่ในตัวบ้านแล้วหันหน้าออกสู่นอกบ้าน ด้านซ้ายมือของเราเรียกว่าทิศมังกรเขียว ซึ่งบริเวณนี้มีความเหมาะสมสำหรับทำเป็นประตูทางเข้าหลักของบ้าน เพราะเชื่อกันว่าเงินทองและโชคลาภจะเพิ่มพูนมากขึ้น และควรทำประตูบ้านผลักเข้าด้านในจะดีกว่าผลักออกด้านนอก
ทุกบ้านนอกจากให้ความสำคัญกับประตูหน้าบ้านแล้ว ต้องใส่ใจกับประตูหลังบ้านเช่นกัน บ้านใดที่ไม่มีประตูหลังบ้าน ย่อมทำให้กระแสพลังชี่ไม่สามารถไหลเวียนได้ ซึ่งหากพิจารณาในเชิงวิทยาศาสตร์แล้ว การมีประตูหน้าบ้านและประตูหลังบ้านนั้น มีผลดีคือทำให้อากาศหมุนเวียนถ่ายเทได้ดีและมีลมพัดผ่านเข้าบ้านได้ อากาศโดยรวมภายในบ้านจะไม่ร้อนอบอ้าวจนเกินไป

ปริมาณหน้าต่าง

หน้าต่างควรมีกี่บาน

ควรสร้างในปริมาณที่มากพอสมควร เพื่อให้กระแสพลังงานที่ดีจากนอกบ้านไหลเข้าสู่ตัวบ้านได้ อย่างน้อยในห้องหนึ่งควรมีหน้าต่าง 2-3 บาน และสิ่งสำคัญคือควรหมั่นเปิดหน้าต่างอยู่เสมอ เพราะถ้าไม่เปิด พลังงานต่างๆ ย่อมหมุนเวียนเข้าออกไม่ได้ อีกทั้งยังทำให้อากาศไม่ถ่ายเทอีกด้วย ซึ่งประเด็นนี้ก็เหมาะกับสภาพอากาศของประเทศไทย ที่ควรเปิดหน้าต่างให้ลมพัดระบายความร้อนหรือความอบอ้าวภายในห้อง

ข้อควรระวัง

1. แม้ตามหลักการฮวงจุ้ยจะบอกว่าการมีประตูหน้าบ้านและประตูหลังบ้านเป็นสิ่งที่จำเป็น แต่ควรสร้างให้เหลื่อมกันเล็กน้อย หลีกเลี่ยงการสร้างตรงกันพอดี และประตูหลังบ้านควรมีขนาดเท่าหรือเล็กกว่าประตูหน้าบ้าน ไม่ควรใหญ่กว่า และไม่ควรสร้างประตูหลักสำหรับเข้าออกบ้านมากเกินไป เพราะเชื่อว่า จะเก็บทรัพย์ไม่อยู่

2. อย่าให้บานประตูบ้านตรงกัน 3 บาน เพราะเชื่อกันว่าเงินทองทรัพย์สินจะรั่วไหลทำงานหาเงินได้เท่าไหร่ ก็มีเหตุให้ต้องใช้จ่ายหรือสูญเสียออกไป ทางแก้คือ ให้หาฉากหรือตู้มาวางกั้น

3. อย่าทำหน้าต่างไว้เหนือบริเวณหัวเตียงนอน เพราะกระแสพลังที่ไหลเข้าออกนั้นจะส่งผลให้นอนหลับไม่สนิท สุขภาพย่ำแย่ แต่หากบ้านของใครทำหน้าต่างไว้แล้ว ทางแก้ก็ไม่ยาก เพียงติดผ้าม่านไว้ และปิดผ้าม่านขณะนอนหลับก็สามารถช่วยแก้ไขได้
ฮวงจุ้ยประตูและหน้าต่างของบ้าน เป็นอีกเรื่องที่มีความสำคัญ ให้ความใส่ใจพิจารณากันสักเล็กน้อย รับรองว่าโชคลาภมาเยือนท่านอย่างแน่นอน

อ่านเพิ่มเติม ฮวงจุ้ยบ้าน

 

บริการของเรา

กดที่นี่!! >> บริษัทรับสร้างบ้าน

กดที่นี่!! >> รับออกแบบบ้าน รับเขียนแบบบ้าน

 

งานบริการยอดนิยมจาก บริษัทTAMPBUILDER ออกแบบ เขียนแบบ ถอดแบบ รับเหมาก่อสร้างบ้านและอาคาร ครบวงจร

หาผู้รับเหมา หาช่างก่อสร้าง รับออกแบบบ้าน รับเขียนแบบบ้าน รับทำ BOQ ถอดแบบประมาณราคา

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

error: Content is protected !!